ประวัติของโรงเรียนชุมชนบ้านระเว

โรงเรียนชุมชนบ้านระเวตั้งขึ้น เมื่อ  วันที่  1  เมษายน  พ.ศ.  2464  ในสมัยพระวิพากย์พจนกิจ  เป็นนายอำเภอ  และขุนพิมพกุล เป็นศึกษาธิการอำเภอ  โดยอาศัยศาลากลางบ้านเป็นสถานที่เรียน มีครูประจำการ  2  คน คือ นายสาย  วงค์สวัสดิ์  กับ  นายคำมั่น  ทาคำ มีนักเรียน  50  คน

ต่อมาอีก  4  ปี  ครูทั้งสองคนลาออก  ทางราชการจึงได้แต่งตั้ง นายปุ้ย  พรหมเย็น เป็นครูใหญ่  และนายคำแดง  วงค์สวัสดิ์  เป็นครูน้อย  อีก 1 ปี ต่อมา   กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  และราษฎร  ได้ช่วยกันปลูกสร้างศาลาขึ้น  1 หลัง ณ ที่ปลูกสร้างโรงเรียนอยู่ในขณะนี้  จึงได้ย้ายสถานที่เรียนมาเรียนที่ศาลาหลังใหม่ 

เมื่อวันที่  16  เมษายน  2466  นายปุ้ย  พรหมเย็น  ลาออก  ทางราชการจึงได้แต่งตั้ง  นายบุดดี  สุภา  เป็นครูใหญ่  และนายป้อง  บุญเรือง  เป็นครูน้อย  จนถึง  วันที่  11  พฤษภาคม  2466  ทางราชการจึงได้ส่ง  นายจินดา  จิตเกษม  มาเป็นครูใหญ่  นายทา  พันธุ์เพ็ง  เป็นครูน้อย

เมื่อวันที่  4  ตุลาคม  2468  ทางราชการได้ส่ง  นายหอม  แสนทวีสุข  มาเป็นครูใหญ่ แทนนายจินดา  จิตเกษม  ที่ลาออก  ในระหว่างนั้นทางราชการได้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่บ้านนาจาน  ให้ครูไปทำการสอน  2  คน

ในวันที่  11  พฤษภาคม  2478  ทางราชการได้แต่งตั้ง  นายจันทร์เพ็ง  ทองพิทักษ์  มาเป็นครูใหญ่แทน  นายหอม  แสนทวีสุข  ที่ย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่น

เมื่อ พ.ศ.2480  ทางราชการได้จัดสร้างโรงเรียนเอกเทศถาวรขึ้น ตามแบบ ป.1 ซ ขนาด 7 × 36 ×1.30  เมตร  สิ้นเงินประมาณ  1,800  บาท  ทางราชการได้ตั้งเป็นโรงเรียนอิสระ  ต่อมานายจันทร์เพ็ง ทองพิทักษ์  ย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่น ทางราชการจึงย้ายนายโหง่น  สิงห์เรือง  มาเป็นครูใหญ่  และได้บรรจุภารโรงให้  1  คน

เมื่อ  พ.ศ.2483  นายโหง่น  สิงห์เรือง  ย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่น  และนายผัน  ถาวรเสถียร  ย้ายมาเป็นครูใหญ่แทน

พ.ศ. 2491 ทางราชการได้ย้าย  นายกาญจน์  ลวดทอง  มาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการประถมศึกษา  อำเภอพิบูลมังสาหาร  และแต่งตั้ง  นายไมตรี  สัตยากูล  ครูน้อยรักษาการแทนครูใหญ่

พ.ศ. 2504  ทางราชการและประชาชนได้ร่วมกันปลูกสร้างอาคารเรียนขึ้นอีกหลังหนึ่ง  ขนาด  7×18×1.30 เมตร  เพื่อใช้เป็นสถานที่เล่าเรียนของชั้นประถมศึกษาตอนปลาย  ซึ่งเปิดเรียนเมื่อวันที่  1  พฤษภาคม  2514   มีนักเรียน  ป. 5  จำนวน  36  คน  ปีต่อมาได้เปิดสอนถึง  ป. 7

เมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2516  นายกาญจน์  ลวดทอง  ได้ออกจากราชการเนื่องจากเกษียณอายุ  และได้มอบหน้าที่การงานให้  นายอมร  พรหมเย็น  รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ต่อไป

เมื่อ วันที่  4  มิถุนายน  2517  ทางราชการได้ประกาศขยายการศึกษาภาคบังคับให้สูงขึ้น  จนถึงชั้น  ป.ปลาย  ในท้องที่ ต.ระเว  และมีโรงเรียนบ้านระเวโรงเรียนเดียวเท่านั้น

เมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2517  ทางราชการได้แต่งตั้ง  นายอมร  พรหมเย็น  ดำรงตำแหน่ง  ครูใหญ่โท  โรงเรียนบ้านระเวต่อไป

เมื่อเดือนมิถุนายน 2521  ทางจังหวัดได้คัดเลือกโรงเรียนบ้านระเว  เป็นโรงเรียนชุมชน  จึงเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนชุมชนบ้านระเว

เมื่อวันที่  12  ตุลาคม  2529  นายอมร  พรหมเย็น ได้ถึงแก่กรรม ทางราชการได้ย้าย นายโกศล  เสาใบ  มาแทนตำแหน่งอาจารย์ใหญ่  ในวันที่  11  ธันวาคม  2529

เมื่อวันที่  16  พฤศจิกายน  2527  บรรจุนายพนัส   คำสวัสดิ์   เป็นลูกจ้างประจำ

ปีงบประมาณ  2536  โรงเรียนได้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา  รับนักเรียนชั้น  ม. 1  มีจำนวน  44  คน

ปีงบประมาณ  2539  กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้โรงเรียนชุมชนบ้านระเวเป็นโรงเรียนนำร่อง  ตามโครงการปฏิรูปการศึกษา  โดยมีนายสุขวิช  รังสิตพล  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  วันที่    24  มกราคม  2539  นายโกศล  เสาใบ ได้เลื่อนตำแหน่งจากอาจารย์ใหญ่  เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน  และทางราชการได้ส่งนางมลิวัลย์  เทพคำราม  และนายชัชวาลย์  จันทร์ทอง  ไปอบรมผู้ช่วยผู้อำนวยการ  ที่สถาบันผู้บริหารระดับสูงวัดไร่ขิง  ต.สามพราน  จ.นครปฐม  ตั้งแต่ วันที่  29  มกราคม  ถึง วันที่ 23  กุมภาพันธ์  2539

ในวันที่  3  ตุลาคม  พ.ศ.  2543  ทางราชการได้มีคำสั่งให้นายโกศล  เสาใบ  ออกจากราชการเนื่องในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเกษียณก่อนกำหนด  รุ่นที่ 2  ปีงบประมาณ  2544   จำนวน  168  คน  และเมื่อวันที่  6  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2543  ทางราชการได้ส่งนางสิริพร  แสนทวีสุข  มารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน  และในวันที่   1  พฤศจิกายน  2543  ทางราชการได้มีคำสั่งแต่งตั้ง   นางสิริพร  แสนทวีสุข  ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านระเว

วันที่  13  พฤษภาคม  พ.ศ.  2546   ศิษย์เก่าโรงเรียนชุมชนบ้านระเว  ผู้ปกครองนักเรียน  ผู้นำชุมชน  องค์การบริหารส่วนตำบลระเว  และคณะครู-อาจารย์โรงเรียนชุมชนบ้านระเว    ได้ร่วมกันสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กภายในบริเวณโรงเรียน  คิดเป็นมูลค่า  300,000  บาท  (สามแสนบาทถ้วน) โรงเรียนได้สร้างเสร็จเมื่อวันที่  18  พฤษภาคม   พ.ศ.  2546 และวันที่   21   กรกฎาคม   พ.ศ.  2549  ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลระเว  จำนวน   50,000   บาท  ในการสร้างโรงอาหารขนาดกว้าง   6  เมตร  ยาว  18  เมตร  และโรงเรียนได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

วันที่  18 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ชาวบ้าน  คณะครูและนักการภารโรง ได้ร่วมบริจาคเงินและข้าวเปลือก  ในการจัดซื้อคอมพิวเตอร์  เพื่อการเรียนการสอน  จำนวน  10  เครื่อง

วันที่  22 สิงหาคม พ.ศ. 2549  ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลระเว จำนวน 50,000 บาท  จัดสร้างโรงอาหาร  และยังได้รับบริจาคเครื่องกรองน้ำจากมูลนิธิสโมสรโรตารี่อุบลราชธานี จำนวน 1 ชุด

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ศิษย์เก่า นางสาวชุลีกร จันดี  และคุณพิพัฒน์ ลาภปรารถนา สก.กทม. พร้อมครอบครัว  ได้ต่อเติมด้านหลังอาคาร 2 ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 36  เมตร และเครื่องเล่นสนามเด็กเล่น  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 200,000 บาท

วันที่  13  เมษายน  พ.ศ. 2551  ศิษย์เก่า  นายทินกร  วงศ์สวัสดิ์  นายวุฒิไกร  แสนทวีสุข  นายทศพล  ธนูศิลป์  และคณะนำผ้าป่าสามัคคีทอด  ณ โรงเรียนชุมชนบ้านระเว  เป็นเงินจำนวน  86,165  บาท  ได้ต่อเติมด้านหลังห้องสมุด ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 20 เมตร

วันที่  23  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2553  ได้ขออนุญาตทำการรื้อถอนบ้านพักครูหลังที่ 2  และจัดสร้างอาคารชมรมวิชาชีพ  ขนาดกว้าง 4  เมตร  ยาว 24  เมตร

วันที่  9  เมษายน  พ.ศ. 2555  ได้รับงบประมาณ(แปรญัตติ)  จัดสร้างสนามฟุตซอล  จำนวน 1 สนาม  ขนาดกว้าง   20   เมตร  ยาว   32   เมตร  ราคา 1,986,000 บาท

พ.ศ.2556 ได้รับงบประมาณ(แปรญัตติ)  วงดุริยางค์ขนาดเล็กพร้อมซ่อมแซมห้องศิลปะ 1 ชุด ราคา 249,500 บาท